โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ เน้นย้ำการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ พิจารณาแนวโน้มการเติมโตทางเศรษฐกิจ ควบคู่ปัจจัยกระทบที่อาจเกิดขึ้น ยืนยันไทยต้องฟื้นตัวไม่แพ้ประเทศเพื่อนบ้าน

วันนี้ (28 มีนาคม 2567) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เน้นย้ำในการทำงานของรัฐบาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องในมาตรการหลัก อาทิ บรรเทาภาระค่าครองชีพโดยเฉพาะค่าสาธารณูปโภค ดำเนินมาตรการแก้หนี้ให้ประชาชนทั้งระบบ ออกมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อผ่าน Easy e-Receipt และ มาตรการฟรี VISA สนับสนุนการท่องเที่ยว อย่างไรก็ดี ยังมีเครื่องชี้ปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ทำให้เห็นว่าประเทศไทยยังฟื้นตัวไม่เต็มศักยภาพ

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีระบุว่า การดำเนินการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจยังถือว่าจำเป็นอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญว่าประเทศไทยต้องฟื้นตัวได้ในระดับเดียวกับประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศไทยจึงยังต้องดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม ป้องกันปัจจัยที่อาจเกิดขึ้นจากความเสี่ยงของเศรษฐกิจปี 2567 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ครั้งที่ 2/2567 จึงมีข้อสรุปว่าโครงการ Digital Wallet มีความจำเป็น ที่จะข่วยเพิ่มเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจให้กระจายตัวไปสู่ท้องถิ่น สร้างโมเมนตั้มให้เศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวได้อย่างเต็มศักยภาพ

อย่างไรก็ดี ในที่ประชุมฯ ได้พิจารณาถึงรายละเอียดของโครงการฯ เพื่อให้สอดคล้องกับความเหมาะสม โดยได้1. มอบหมายให้กระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณ ร่วมกันพิจารณาแหล่งงบประมาณทางเลือกเพิ่มเติม 2. มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับประเภทร้านค้า และสินค้าที่เข้าร่วมโครงการฯ 3. มอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดส.) และ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) ร่วมกันดำเนินการศึกษารูปแบบของระบบ และแนวทางการพัฒนาระบบที่สามารถรองรับการดำเนินโครงการฯ และ4. มอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติตั้งคณะอนุกรรมการด้านตรวจสอบการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการฯ โดยให้ทุกส่วนนำมาเสนอให้คณะกรรมการนโยบายพิจารณา เพื่อให้ได้ข้อสรุปในวันที่ 10 เมษายน 2567 

“นายกรัฐมนตรีพิจารณาอย่างรอบคอบรับฟังความคิดเห็นจากทุกส่วน โดยในการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ที่ผ่านมาได้มีข้อสรุปร่วมกันว่า เมื่อพิจารณาแนวโน้มทางเศรษฐกิจของประเทศ ปัจจัยที่ต้องเผชิญ Headwind ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ถือว่าโครงการ Digital Wallet มีความจำเป็น โดยนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำให้การขับเคลื่อนโครงการเป็นไปโดยคำนึงถึงความเห็นของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน และคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนเป็นสำคัญ แต่ต้องเป็นไปภายใต้วินัยการเงินการคลังของรัฐ” นายชัย กล่าว

ที่มา : รัฐบาลไทย


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar