ความปลอดภัยทางถนน

ความปลอดภัยทางถนน

คณะรัฐมนตรีได้กำหนดให้วันที่ 21 มกราคม ของทุกปีเป็น “วันความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน”  โดยให้ทุกวันที่ 21 ของทุกเดือนเป็นวันแห่งการสร้างจิตสำนึกในการขับขี่และมีวินัยจราจร

เรื่องอุบัติเหตุทางถนนเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องตระหนัก จากเหตุการณ์ในอดีตที่สังคมเคยสูญเสียบุคลากรทางการแพทย์ ทำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รณรงค์กันอย่างจริงจัง รวมถึงกรมประชาสัมพันธ์ที่เป็นกระบอกเสียงที่สำคัญสื่อสารสร้างความเข้าใจ สร้างการรับรู้ไปสู่พี่น้องประชาชน 

ทางด้านนายทรงศัก สายเชื้อ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ก็เช่นกันได้เล็งเห็นความสำคัญเรื่องความปลอดภัยของการใช้รถใช้ถนน โดยได้อาศัยอำนาจตามมาตรา ๓๒ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๖๐ หยิบยกกรณีปัญหาในเรื่องดังกล่าวมาศึกษา นำไปสู่การแก้ไขปัญหาเชิงระบบ และได้ดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด โดยได้มีข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานต่าง ๆ จำนวน 4 ด้าน คือ 

1) ด้านกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย เช่น การกำหนดโทษให้สูงขึ้น และจำกัดความเร็วในเขตชุมชนต่าง ๆ รวมถึงพักใช้ใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่

2) ด้านกายภาพ เช่น ระบบเตือนให้ชัดเจน ตั้งป้ายควบคุมความเร็ว ตรวจสอบสภาพถนนบริเวณทางข้าม ติดตั้งกล้องเพื่อตรวจจับผู้ฝ่าฝืนสัญญานไฟจราจร

3) ด้านการจัดการด้านความปลอดภัยทางถนน (Safety Road Management) เช่น การจัดตั้งกลุ่มประสานงาน (Core Groups) โดยมี 8 หน่วยงานหลัก ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมการขนส่งทางบก กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ระดมข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะรวมทั้งแนวทางการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนผู้ใช้รถ ใช้ถนน และทางข้ามทางม้าลายทั่วประเทศเกิดความปลอดภัย ซึ่งมีการจัดประชุมไปแล้วเมื่อปลายปี 2566 ในครั้งแรกกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นเจ้าภาพ และครั้งต่อไปเป็นกรมการขนส่งทางบก รวมถึงให้ปรับแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน พ.ศ. 2565 – 2570 โดยต้องมีองค์ประกอบ 8 ด้าน คือ ถนนที่ปลอดภัยและการออกแบบถนน , ความเร็วที่ปลอดภัย , ยานพาหนะที่ปลอดภัย , การใช้ถนนและพฤติกรรมการใช้อย่างปลอดภัยและเคารพระเบียบวินัย , การใช้เทคโนโลยีนวัตกรรม , การดูแลและเยียวยาผู้เสียหายหลังเกิดอุบัติเหตุ , การประสานและบูรณาการของทุกภาคส่วน และการมีส่วนร่วมและความรู้สึกเป็นเจ้าของของปราะชาชนและมุ่งประชาชนเป็นศูนย์กลาง 

สิ่งที่สำคัญคือ ต้องกำหนดเป้าหมายในการลดอุบัติเหตุและจำนวนผู้เสียชีวิตเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2585

4) ด้านการรณรงค์สร้างจิตสำนึกการเคารพวินัยและกฎจราจร รวมทั้งวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน เช่น กำหนดให้ปี 2567 -2568 เป็นปีแห่งการสร้างวินัยและความปลอดภัยทางถนน โดยเน้นการรณรงค์ 5 เรื่อง คือ ความปลอดภัยทางม้าลายและความปลอดภัยของคนเดินถนน , การขับขี่ยานพาหนะโดยใช้ความเร็วไม่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด , การไม่ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร , การสวมหมวกนิรภัย และดื่มไม่ขับ เป็นต้น




 

จากสถิติของบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด พบว่าอุบัติเหตุย้อนหลัง 12 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2554 ถึง พ.ศ. 2565 มีผู้เสียชีวิตรวมจำนวนทั้งสิ้น 240,924 คน เฉลี่ยมากว่าปีละ 20,000 คน คิดเป็นรายวัน ๆ ละ 55 คน สำหรับปี พ.ศ. 2566 ในระยะ 9 เดือน ช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนกันยายน 2566 สถิติอุบัติเหตุจากข้อมูล 3 ฐาน ประกอบด้วย ใบมรณบัตร/หนังสือรับรองการตาย ข้อมูลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัย จำกัดมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน จำนวน 12,730 คิดเป็นอัตรา 19.54 ต่อประชากรแสนคน หรือเฉลี่ยวันละ 46 คน

สำหรับคนเดินเท้าที่ประสบอุบัติเหตุนั้นแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้

1. คนเดินเท้าที่เกิดอุบัติเหตุแล้วเสียชีวิต (กลุ่มที่ไม่ได้ข้ามทางม้าลาย)

2. กลุ่มที่ข้ามทางม้าลายและถูกรถชนเสียชีวิต

3. กลุ่มเดินเท้าริมถนน ถูกรถชนเสียชีวิต

4. กลุ่มที่ถูกรถชนที่ไม่ได้อยู่บนถนน แต่อยู่บนเคหะสถาน พื้นที่ส่วนบุคคล 

สำหรับการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ที่ได้ร่วมดำเนินงานกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย ภาครัฐ ภาคเอกชนภาคประชาสังคมมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในช่วงปกติและช่วงเทศกาล โดยผ่านกลไกการทำงานของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) โดยยึดแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน พ.ศ. 2567 - 2570 เป็นกรอบการทำงานที่มุ่งเป้าลดการเสียชีวิตและบาดเจ็บ ได้วางเป้าหมายสถิติอุบัติเหตุทางถนนในปี 2567 ว่าต้องลดลงไม่น้อยกว่า ร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับสถิติในช่วงเทศกาลปีใหม่เฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง 

ซึ่งผลการดำเนินงานในภาพรวมจำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ลดลงถึงร้อยละ 19.06 และมีจำนวนผู้เสียชีวิตลดลงร้อยละ 18.23 

โดยภายในปี พ.ศ. 2567 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้วางกรอบสร้างการสัญจรทางถนนที่ปลอดภัยสำหรับประชาชนทุกคน ภายใต้ 4 ยุทธศาสตร์สำคัญ ดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1 มุ่งเป้าลดการเสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัสของผู้ใช้รถใช้ถนนมุ่งเน้นจัดการ          กับความเสี่ยงหรือภัยคุกคามสำคัญของประเทศอย่างจริงจัง เร่งด่วนซึ่งครอบคลุมประเด็นผู้ใช้รถใช้ถนน โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง

ยุทธศาสตร์ที่ 2 ยกระดับมาตรฐานด้านความปลอดภัยทางถนนของยานพาหนะ มุ่งเน้นจัดการกับความเสี่ยงอย่างจริงจัง เร่งด่วน ซึ่งครอบคลุมประเด็นยานพาหนะทุกประเภท โดยให้ความสำคัญกับยานพาหนะที่มีความเสี่ยงสูง

ยุทธศาสตร์ที่ 3 พัฒนาสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและการเดินทางที่ยั่งยืนมุ่งเน้นการปรับปรุงและพัฒนาสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยที่เอื้อต่อการสัญจรทุกรูปแบบทั้งการสัญจรที่ใช้ยานยนต์ และการสัญจรที่ไม่ใช้ยานยนต์

ยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนารากฐานโครงสร้างการทำงานด้านความปลอดภัยทางถนน มุ่งเน้น                     การสร้างรากฐานการทำงานด้านความปลอดภัยทางถนนของประเทศให้มีประสิทธิภาพ สามารถ             ขับเคลื่อนการทำงานให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างยั่งยืน ผ่านการสริมสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน การปรับปรุงข้อกฎหมายการจัดสรรงบประมาณอย่างสร้างสรรค์ และการติดตามประเมินผลที่ต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ

เพื่อลดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนให้ได้มากที่สุด

 


image วิดีโอ

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar